วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555

จิตรกรรม

จิตรกรรม ( Painting )
โดย.ศุภชัย   สุกขีโชติ

งานจิตรกรรมเป็นศิลปกรรมอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์ใช้เป็นสื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกความคิด ความเชื่อ ในขณะนั้น สามารถแสดงรายละเอียดของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ สามารถแสดงอารมณ์ ของผู้สร้างงานจิตรกรรมนั้น ๆ ได้ มนุษย์สร้างงานจิตรกรรมมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ในถ้ำ ร่องรอยขีดเขียนในถ้ำต่าง ๆ ที่พบเห็นในปัจจุบันเกิดจากฝีมือของมนุษย์โบราณ ได้สร้างผลงานจิตรกรรมไว้ การสร้างงานจิตรกรรมมีในทุกชนเผ่าทั่วโลก งานจิตรกรรมบางครั้งทำหน้าที่เป็นภาษาภาพ และใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ใช้สื่อสารกับจิต วิญญาณ ความเชื่อประเพณี วัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน
            งานจิตรกรรมจึงไม่ใช่เพียงการเขียนภาพ เพื่อให้เหมือนหรือเก็บข้อมูลรายละเอียดของภาพ ให้มากที่สุดจึงถือว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพ ถ้าเป็นเช่นนั้นผลงานจิตรกรรมก็คงไม่ต่างกับ ภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์ทั่วไปเท่านั้น งานจิตรกรรมที่ดีจะแสดงตัวตน ความเป็นตัวเองของผู้สร้าง บอกถึงอารมณ์ความรู้สึก แสดงความคิด ของผู้นั้นได้อย่างดี
            สำหรับบุคคลทั่วไปที่กำลังจะเริ่มฝึกฝนเรียน ในการทำงานจิตรกรรมในเบื้องต้นก็ยังเป็นการยากที่จะเข้าใจลึกซึ้งลงไปในเรื่อง จิต วิญญาณ อารมณ์ ความรู้สึก ที่นอกเหนือจากการเห็นด้วนตา แต่การฝึกฝน หมั่นเรียนรู้หาประสบการณ์ ก็จะทำให้ สามารถเกิดความเข้าใจ และรู้สึกไปในผลงานที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น
           งานจิตรกรรมโดยทั่วไปก็จะหมายถึง ผลงานที่สามารถมองเห็นได้เพียงด้านเดียวอาจจะอยู่บนกระดาษ บนผนัง บนกระดาน หรือบนผ้าใบ โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น สีน้ำ สีฝุ่น สีน้ำมัน สีอครายลิก สีโปสเตอร์ สีไม้ สีเทียน สีชอล์ก หรือใช้วัสดุ ต่าง ๆ ปะปิดผสมผสานลงไปบนผลงาน การเริ่มต้นเรียนจิตรกรรมควรจะต้องทำความรู้จักส่วนประกอบต่างๆ ในโครงสร้างงานจิตรกรรม ดังต่อไปนี้
1. พื้นงาน
2. ภู่กัน
3. สีและวัสดุที่ใช้ผสมสี
4. ขาหยั่งเขียนภาพ
1. พื้นงาน คือส่วนที่ใช้รองรับสีหรือวัสดุต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในงานจิตรกรรม ถ้าเป็นจิตรกรรมสีน้ำ โดยทั่วไปมักจะใช้กระดาษ เป็นแผ่นพื้นงาน รองรับสีน้ำ แต่ถ้าเป็นสีน้ำมันโดยทั่วไปจะใช้ Canvas เป็นพื้นรองรับสีน้ำมัน ปัจจุบันสามารถหาซื้อ แบบที่ขึงไว้กับโครงไม้สำเร็จแล้วซึ่งพอจะหาซื้อสำเร็จได้ ถ้าไม่ใช้ขนาดใหญ่มาก หมายถึงขนาดที่ใหญ่กว่า 1 เมตร อาจจะต้องสั่งทำบ้าง สำหรับพื้นของผ้าใบเหล่านั้น จะถูกรองพื้นด้วยสีที่ใช้รองพื้นในการเขียนภาพโดยเฉพาะ จะมีคุณสมบัติดีพอจะเขียนสีน้ำมันได้ไม่ดูดซึมน้ำมัน โดยทั่วไปผ้าใบทีดีไม่ควรดูดซึมน้ำมันมาก ส่วนพื้นงานที่ใช้กับสีอครายลิก ไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะเนื่องจากคุณสมบัติของสีอะครายลิกสามารถเกาะยึดกับวัสดุได้หลายชนิด ไม่ว่าจะบนกระดาษหรือผ้าใบ
โดยทั่วไปจะนิยมเรียก ผ้าใบที่ขึงบนไม้กรอบแล้วว่า " เฟรม " ( Frame ) หรือกรอบ
2. ภู่กัน ภู่กันที่ใช้ในการทำงานจิตรกรรมมี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ภู่กันกลม กับภู่กันแบน และทั้ง 2 ชนิดนี้มีลักษณะขนนุ่ม กับขนแข็ง โดยทั่วไปภู่กันที่มีขนนุ่มมีสปริงดี จะเหมาะกับการเขียนสีน้ำ และภู่กันขนแข็งจะใช้ในการเขียนสีน้ำมัน แต่ก็ไม่เสมอไป บางคนอาจใช้แตกต่างจากนี้ เนื่องจากปรับให้เหมาะสมกับเทคนิคของแต่ละคน สำหรับการเขียนสีน้ำมันยังสามารถใช้" เกรียง " แทนภู่กันได้อีกด้วย เพราะสีน้ำมันมีความข้นมาก พอที่เกรียงจะปาดป้ายสีได้ เกรียงคือแผ่นเหล็กบาง ๆ มีด้านจับ เอาไว้ใช้ป้ายสี หรือผสมสี ในจานสีได้ ภู่กันที่ควรมีไว้ในการเขียนสีน้ำมัน อาจใช้ภู่กันเบอร์ 4, 8, 10, 12, ควรเป็นภู่กันขนแข็ง เพื่อใช้ในการขึ้นรูป หรือลงสีในระยะแรก ภู่กันขนแข็งจะเหมาะกับเทคนิคการเขียนโดยใช้สีหนา ๆ ใช้เนื้อสีมาก ขนภู่กันที่แข็งจะเป็นแรงพยุงสี ให้เกาะติดกับเนื้อผ้าใบได้ดี ภู่กันที่มีขนอ่อนก็สามารถเขียนสีน้ำมันได้ เหมาะสำหรับการเขียนสีบาง ผสมสีให้เหลวหน่อย และจะสามารถเกลี่ยเนื้อสีให้เรียบเข้ากันได้ ง่ายดูนุ่มนวล ข้อควรระวังสำหรับการขึ้นรูป บนผ้าใบ สำหรับการใช้ภู่กันควรใช้ภู่กันขนแข็ง และไม่ควรมีราคาแพงเกินไป เพราะการขึ้นรูปในระยะแรก บนผ้าใบจะทำให้ภู่กันสึกหรอมาก เรียกกว่า
เขียนรูป 2-3 รูปภู่กันก็หมดไปด้วย
ภู่กันแบน และ ภู่กันกลม เกรียง
3. สีและวัสดุที่ใช้ในการผสมสี
            สีที่ใช้ในการทำงานจิตรกรรมสามารถใช้สีได้หลากหลาย ในการนำมาทำเป็นจิตรกรรม เช่น สีน้ำ สีน้ำมัน สี่ฝุ่น สีโปสเตอร์ สีอะครายลิก ฯลฯ สำหรับสีน้ำมัน คือสีที่มีส่วนผสมระหว่างเนื้อสีกับน้ำมัน มีคุณสมบัติแห้งช้า แต่สามารถเกาะติดวัตถุได้แน่น ไม่ผสมกับน้ำ และไม่สามารถล้างน้ำออกได้ ปัจจุบันมีจำหน่ายทั่วไป บรรจุในหลอดขนาดต่าง ๆ รวมทั้งชนิดบรรจุกระป๋อง เวลาใช้งานต้องปีบเอาออกจากหลอด ลงบนจานสี หลังใช้ภู่กันจุ่ม " น้ำมันลินสีด "
" Linseed Oil " ผสมลงจานสีพร้อมกับการผสมสีต่าง ๆ น้ำมันลินสีดเป็นน้ำมันที่สกัดจากพืช เพื่อใช้สำหรับผสมกับสีน้ำมันโดยเฉพาะ ปัจจุบันมีจำหน่ายบรรจุเป็นขวดขนาดต่าง ๆ เมื่อต้องการจะล้างภู่กันสามารถล้างได้โดยน้ำมันสน ( Turpentine ) เป็นตัวล้าง จานสีสามารถทำขึ้นเองเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละคนได้ หรืออาจซื้อสำเร็จรูปได้จากร้านต่าง ๆ ได้เช่นกัน การทำจานสีควรใช้แผ่นกระดานขนาดพอเหมาะ หรือประมาณ ขนาดกระดาษ A4 - A3 หรืออาจเป็นกระดาษแข็งที่มีความหนาและแข็งแรง ควรมีพื้นขาวหรือสีเรียบ หุ่มด้วยกระดาษไขเมื่อจะเปลี่ยนก็เพียงแต่ฉีกกระดาษไขทิ้งไปแล้วหุ้มใหม่ แต่ถ้าไม่ใช้กระดาษไขจะใช้แผ่นพลาสติกหรือ ถุงพลาสติกสวมแทนก็สามารถทำได้ หรืออาจใช้กระดาน ที่แผ่นหน้าบุโฟเมก้า หรือแผ่นแข็งที่น้ำซึมไม่ได้ เป็นจานสีก็ได้ และควรมีผ้าไว้สำหรับเช็ดภู่กันด้วย
            สรุปว่าวัสดุที่ใช้ในการเขียนภาพสีน้ำมันควรมี ภู่กัน , เกรียง ,น้ำมันลินสีด , น้ำมันสน , จานสี , ผ้าเข็ดภู่กัน .สีที่ใช้เป็นสีน้ำมัน ( Oil Colors ) และควรมีสีต่าง ๆไว้ใช้โดยทั่วไปนิยมใช้สีขาว Win Sor and Newton , Le France ฯลฯ
รายชื่อสี
- Gamboge
- Cadmium Ovange
- Cadmium Red Pale หรือ Vermillion
- Scarlet Lake
- Crimson Lake
- Rose Madder
- Purple Lake
- Mauve
- Prussian Blue
- Ultramarine Blue
- Cobalt Blue
- Cerulean Blue
- Emerald Green
- Sap Green
- Intense Green หรือ ( Veridian )
- Hooker Green Dark
- Yellow Ochre
- Burnt Sienna
- Sepia
- Indigo
- Titanium White
สำหรับผู้เริ่มหัดเขียน ไม่จำเป็นต้องมีไว้จนครบอาจเลือกบางตัวและสามารถผสมใช้ได้
4. ขาหยั่งเขียนภาพ
            ขาหยั่งเขียนภาพเป็นอุปกรณ์ ในการเขียนภาพอีกชนิดหนึ่งและมีความจำเป็นพอสมควรสำหรับการเขียนภาพสีน้ำมัน นอกสถานที่         ควรเป็นชนิดที่สะดวกต่อการพกพาเคลื่อนย้ายได้ง่ายและแข็งแรงพอสำหรับการยึดจับกรอบภาพ( Frame )

การเขียนภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน
            สำหรับผู้ที่เริ่มต้นศึกษา การเขียนภาพสีน้ำมันควรฝึกการร่างภาพด้วยดินสอ และสามารถลงน้ำหนัก ขาว - ดำ และสามารถสังเกตสัดส่วน ความแตกต่างของขนาดวัตถุ ที่จะเขียนได้พอสมควร ถึงแม้การเขียนสีน้ำมันจะเป็นการเขียนสีในลักษณะต่าง ๆ แต่เนื่องจากเราจะเริ่มฝึกฝนจากการสังเกตธรรมชาติ เช่นการเขียนหุ่นนิ่งอย่างง่าย ๆ มีวัตถุอยู่ในหุ่นไม่มากนัก เช่นเป็นส้ม , แจกันดอกไม้ , ผ้าต่าง ๆ ผู้เรียนจะต้องสังเกตขนาดและความแตกต่าง ๆ ของรูปทรง สีและพื้นผิว แสงเงา ต่าง ๆ จากแบบเพื่อใช้ในการฝึกฝนโดยเริ่มจากการร่างภาพด้วยดินสอ หรืออาจเป็นชอล์ก หรือบางคนที่มีความชำนาญอาจร่างด้วยสีน้ำมันเลยก็ได้ เมื่อร่างภาพและจัดภาพให้ได้สัดส่วนและสวยงามแล้ว อาจเริ่มผสมสีที่ผสมจากแบบ โดยคำนึงถึงสภาพสีส่วนรวมและผสมสีและลินสีดในจานสี โดยใช้ภู่กันที่มีขนาดใหญ่พอประมาณ เพื่อขึ้นรูปภาพทั้งภาพ เพื่อสร้างสภาพสีส่วนรวมและบรรยากาศของภาพในชั้นแรกนี้ไม่ควรใช้สีขาวมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ความสดของสีหม่นลงมาก สำหรับส่วนที่เป็นแสงมากระทบวัตถุอาจจะเว้นเนื้อผ้าใบไว้ก่อน ระยะต่อมาให้สังเกตส่วนที่เป็นแสงให้มากขึ้นแล้วผสมสีใหอ่อนลงโดยใช้สีขาว , เหลือง, หรือสีที่เป็นลักษณะของแสงบนวัตถุนั้น ในขณะนั้น ต่อมาอาจลดขนาดของภู่กันลง และสังเกตุรายละเอียดต่าง ๆ จากแบบให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของสีต่าง ๆ ในแสงและเงา
ทฤษฎีสี (Theory of Colors )
            ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีสี เป็นสิ่งสำคัญ ในการเขียนภาพเพราะจะทำให้ผู้เรียนสามารถใช้ความรู้ความสามารถ และปฏิกริยาที่สะท้อนกลับมายังตาเรา เป็นภาพที่สวยงามได้ สียังแสดงอารมณ์ และความรู้สึกต่าง ๆ อีกมากมาย
แม่สีวัตถุธาตุ ( Pigmentary Primaries )
            หมายถึงสีที่จับต้องได้สัมผัสได้ เช่นเป็นฝุ่น , ผง , แท่ง , หรืออยู่ในรูปของเหลวและสามารถนำมาผสม รวมกันได้ แต่จะมีสีอีกประเภทหนึ่งที่จะมีแม่สีที่แตกต่างกันออกไป เช่นแม่สีแสงอาทิตย์ และแม่สีวิทยาศาสตร์
แม่สีวัตถุธาตุ คือ
            สีน้ำเงิน ( Prussian blue )
            แดง ( Crimson lake )
            เหลือง ( Gamboge tint )
สีทั้ง 3 นี้เมื่อผสมในสัดส่วนเท่า ๆ กันจะเกิดเป็นสีสำคัญ 3 สี เป็นวงสีขั้นที่ 2
            แดง + น้ำเงิน = ม่วง ( Violet )
            แดง + เหลือง = ส้ม ( Orange )
            เหลือง + น้ำเงิน = เขียว ( Green )
            น้ำเงิน + แดง + เหลือง เท่า ๆ กัน = สีกลาง ( Neutral tint ) ถ้ามีความเข้มของเนื้อสีมาก ก็จะเป็นสีดำ
แต่ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องผสมสีเหล่านี้จากแม่สีแล้วเนื่องจากมีการผสมสีเหล่านี้จากแม่สีไว้จำหน่ายแล้ว
แม่สีจากแสงอาทิตย์ ( Spectrum primaries )
            ต่างจากแม่สีวัตถุธาตุ เป็นสีที่อยู่ในอากาศแต่เป็นผลของสีแดง , น้ำเงิน , เหลืองจับคู่กันมีอยู่ 3 สีคือ
            สีส้มแดง ( Vermillion )
            สีม่วง ( Violet )
            สีเขียว ( Smerald )
            เมื่อผสมกับ 3 สีนี้รวมกันแสงสว่างในอากาศทั่ว ๆ ไปซึ่งจะดูคล้ายสีขาว หรือไม่มีสี แตกต่างจากแม่สีในวัตถุธาตุ
กฎของสีตามธรรมชาติ ( Natural Order of Colour )
            หรือวงจรสีธรรมชาติ วงจรนี้เกิดขึ้นตามหลักการผสมสี ตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการผสมกันของแม่สี ธรรมชาติ เกิดเป็นสี 12 สีด้วยกันดังนี้
            เมื่อสีทั้ง 12 สีนี้จัดเลียงกันตามน้ำหนักอ่อนแก่ เริ่มจากสีเหลืองแล้วไปจบที่สีม่วง เป็นสีที่เข้มที่สุด เป็นการจัดน้ำหนักสีตามธรรมชาติ( Values ) ที่เราสามารถพบเห็นได้ ตามดอกไม้ใบหญ้า และธรรมชาติทั่วไป ซึ่งมีผลกับการทำความเข้าใจในเรื่องสีเพื่อใช้ในการเขียนภาพ
        วงจรสี 12 สีนี้ เมื่อนำมาจัดเรียงกันตามน้ำหนักอ่อนแก่จะสามารถแยกสีออกเป็น 2 กลุ่ม หรือ วรรณะ คือ วรรณะ ร้อน คือ เหลือง , ส้ม , ส้มแดง , แดงส้ม ,แดง ,และม่วงแดง ( Warm Tone ) วรรณะเย็น คือ ขาว , เขียว , เขียวฟ้า , ฟ้า , น้ำเงิน , ม่วง
วรรณะของสี ( Tone )
            คือความแตกต่างของสี ที่สามารถแยกออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ วรรณะ ร้อน และวรรณะเย็น สีในกลุ่มวรรณะร้อน เช่นสีเหลือง ,แดง , ส้ม ส่วนสีวรรณะเย็น เช่น สีฟ้า คราม เทา ม่วงน้ำเงิน ความต่างกันของวรรณะ มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ในภาพ เช่น เมื่อต้องการแสดงกำลัง อำนาจ ความกระชับกระเฉง ตื่นเต้น สีที่ใช้ควรอยู่ในวรรณะร้อน แต่ถ้าต้องการความสงบเยือกเย็น เงียบ เชื่องช้า ก็ควรใช้สีในวรรณะเย็น แต่ที่กล่าวมาแล้วมิใช่ต้องการใช้สีวรรณะใดวรรณะหนึ่ง เท่านั้น ในภาพเราอาจใช้ทั้ง 2 วรรณะ แต่ควรรู้จักใช้วรรณะใดวรรณะหนึ่งเป็นส่วนรวมของภาพ
ค่าของสี ( Valves )
            ความหมายความอ่อนแก่ของสี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ค่าของสีหลายสี ( Valves of Differeut Colours )
            คือค่าของสีอ่อนแก่แต่มีสีต่างกัน เช่น เหลือง ส้ม ส้มแดง แดง หรือเขียวอ่อน เขียว เขียวฟ้า เรียงตามวงจรสี
2. ค่าของสีสีเดียว ( Values of Singie Colours )
            คือค่าของสีสีเดียวแต่มีค่าอ่อนแก่เรียงลำดับ
            การรู้จักจัดลำดับความอ่อนแก่ของสี นอกจากจะเรียนรู้ทางทฤษฎีแล้วต้องอยู่ที่การฝึกฝนทดลองใช้ จะทำให้การเขียนภาพที่ต้องการความลึก ปริมาตร ความกลม หรือความมีมิติ เกิดขึ้นได้อย่างสวยงาม และขึ้นอยู่กับความชำนาญ ในการจัดระดับ ความอ่อน แก่ ของสี ในทั้ง 2 ลักษณะนี้
การประสานสีอย่างง่าย ๆ ( Simple Harmonies )
            การประสานสีอย่างง่าย ๆ เป็นหลักเบื้องต้นของการระบายสี โดยอาศัยที่อยู่ในตำแหน่งข้างเคียงกัน ในวงจรสี 2-4,5,6 แต่ไม่ควรเลยไปถึงลำดับที่ 7 เพราะจะเป็นสีคู่ตัดกันหรือสีคู่ตรงกันข้าม
การประสานสีต่างวรรณะ (Harmonies of Different Tones )
            คือการใช้สีทั้ง 2 วรรณะในภาพเดียวกัน แต่พยายามให้เกิดความกลมกลืน โดยใช้สีในวรรณะใดวรรณะหนึ่ง มีปริมาณเป็นเปอร์เซนต์สูงเช่น 70% -80% ส่วนอีกวรรณะหนึ่งให้มีปริมาณน้อยลง หรือประมาณ 20% - 30% สีวรรณะที่มีเปอร์เซนต์ 70 %-80% นั้นเป็นวรรณะหลักในภาพ ส่วนสี 20% -30% เป็นรอง ภาพทั้งหมดจะกลมกลืนกันได้ เช่นเมื่อเราเขียนภาพทิวทัศน์ต้นไม้สภาพส่วนรวมในภาพจะเป็นสีเขียวส่วนใหญ่ แต่เมื่อในกลางวันแสงออกแรงมาก ก็จะมีสีเหลือง สีส้มเข้ามาร่วมด้วย แสงแดดเป็นการใช้สีในลักษณะ 2 วรรณะร่วมกันอย่างกลมกลืน
สีคู่ตัดกันอย่างแท้จริง ( Complementaries of True Contrasts )
            สีคู่ตัดกันอย่างแท้จริง คือสีแม่สี 3 สี และประกอบด้วยสีที่มีการผสมกับคู่สี ของแม่สีธรรมชาติ ในวงจรสี 12 สี และเมื่อจับคู่ผสมกันจะเป็นสีกลางคือ
            สีเหลือง ( Yellow ) สีคู่ สีม่วง ( Violet )
            สีส้มเหลือง ( Orauge ) สีคู่ สีน้ำเงินม่วง ( Uitramarine )
            สีส้ม ( Vermillion ) สีคู่ สีน้ำเงิน ( Cobalt )
            สีส้มแดง ( Scariet ) สีคู่ สีเขียว ( Green )
            สีม่วงแดง ( Purple ) สีคู่ สีเขียวเหลือง ( Yellow - Green )
สีคู่เหล่านี้ คือสีคู่ตัดกันอย่างแท้จริง แต่ยังมีสีคู่ตัดกันอย่างธรรมดา ( Ordinary Contrasts ) เป็นขาวกับดำ เหลืองกับน้ำเงิน เป็นต้น จะตัดกันเนื่องจากมีน้ำหนักสีที่แตกต่างกันมาก แต่น้ำหนักของสีแตกต่างกันน้อยหรือไกลเคียงกันเราเรียกว่าค่าของสีหลายสี ( Values of Colours )
การใช้สีตัดกันอย่างแท้จริง
            การใช้สีตัดกันในภาพ เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาจากทฤษฏี เละประสบการณ์ในการทำงาน เพราะถ้าคู่สีตัดกันอยู่ในภาพโดยมีปริมาณเท่ากัน ทำให้ภาพดูฉูดฉาด หรืออาจแบ่งแยกจากกันได้ จึงควรศึกษาวิธีใช้ดังนี้
วิธีใช้สีตรงกันข้าม
ใช้โดยควบคุมปริมาณและสัดส่วนของคู่สีให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น สีแดง 80% สีเขียว 20% ของพื้นที่ภาพ การใช้โดยลดค่าสีลง ด้วยการลดค่าสีคู่ตัดกัน ที่มีเนื้อที่เท่ากันอาจจะลดความสดใสของสีใดสีหนึ่งลง การใส่ลวดลายเล็ก ๆ บนสีคู่ตัดกันสลับกันไปก็สามารถใช้ได้อย่างสด ๆ ได้ โดยที่สีจะผสานกันไปเอง การใช้เส้นสีเข็ม ตัดขอบนอกของลอยตัดกันของคู่สีคล้ายกับการประดับกระจกสี
(Staine Glasses) เส้นที่ตัดกันตรงรอยต่อของคู่สีจะช่วยลดความรุนแรงของสีลงได้ การทำให้สีคู่ตัดกัน ทั้ง2สีลดค่าของสีลงได้ การผสมซึ่งกันและกัน ก็จะลดความรุนแรงในการตัดกันของสีลงได้
หลักทฤษฎีในการใช้สีคู่ตัดกันที่กล่าวมานี้ อาจมีวิธีการอื่น ๆ อีกซึ่งจะสามารถค้นพบ ด้วยการฝึกฝน ทดลอง และประสบการณ์ของผู้เรียนเอง
วรรณะสีส่วนรวม ( Tonalities )
            คือสภาพของสีที่ผสมกลมกลืน กันสีในภาพด้วยวิธีต่าง ๆ เกิดเป็นสภาพสีส่วนรวมของสีต่าง ๆ เช่น วรรณะสีส่วนรวมของสีเขียวเมื่อเห็นภาพทิวทัศน์ต้นไม้ แต่เมื่อลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว ในภาพอาจมีจุดมีรอยแต้มสีหรือส่วนของรูปทรงย่อย ๆ ที่ไม่ใช้สีเขียวแต่อาจเป็นกลุ่มสีข้างเคียงเช่น เหลือง ฟ้า ม่วง น้ำเงิน หรือส้ม น้ำตาล อยู่ในภาพก็ได้ ซึ่งจะคล้ายคลึงกับเรื่องวรรณะร้อน วรรณะเย็น แต่ผสมผสานสีหลากหลายมากกว่าและยังคงสะภาพของสีส่วนรวมนั้น ๆ ไว้ด้วย
สีเอกรงค์ ( Monochromes )
            สีเอกรงค์ คือสี ๆเดียว หรือสีที่แสดง อิทธิพลออกมาอย่างเด่นชัด เพียงสีเดียว คล้ายกับวรรณะร้อน วรรณะเย็น แต่การใช้สีเอกรงค์นั้น คือการเจือสีหลัก สีใดสีหนึ่งให้มีครอบคลุมไปทุกสี ในกรณีที่ใช้หลายสี เช่นจะใช้สีเหลืองเป็นสีหลัก และต้องการใช้สีแดงและสีเขียวเพิ่มจะต้องนำสีเหลืองผสมลงในสีแดงและสีเขียวด้วย เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการทำให้ภาพมีความประสานกลมกลืน สวยงาม .
การกลับค่าสีของสี ( Discord ) หรือสีขัด
            การกลับค่าสีหรือสีขัด เป็นการใช้สีเพื่อลดความเรียบง่าย หรือวรรณะของสีที่มีความกลมกลืนกันมาก จนเกิดความเบื่อหน่าย เป็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นในภาพเพื่อให้เกิดความหน้าสนใจ ไม่น่าเบื่อจนเกินไป เช่น ลูกส้ม สีเหลืองผิวเงางาม จุดที่เป็นจุดสว่าง ( High Light ) อาจเป็นสีม่วงบาง ๆ ทั้งนี้เพราะอิทธิพลของสีเหลือง ที่อยู่รอบจุดสว่างที่ให้เกิดสีคู่ตรงข้ามนั้นเอง
สีสว่างในที่มืด ( Intensity )
            การใช้สี Intensity หรือการใช้สีสว่างในที่มืด หรือการใช้สีสดใสที่มีปริมาณไม่เกิน 10 % ของพื้นที่ในภาพ ให้ท่านสังเกตภาพแสงไฟในทิวทัศน์จริง ยามกลางคืน กลางทุ่ง ที่มีแสงไฟ เพียง 2 ดวงเป็นจุดเล็ก ๆในภาพเขียนมักจะใช้สี Intensity ในการแก้ปัญหาสภาพสีส่วนรวมที่หม่นมัว ให้มีบรรยากาศไม่ทึบตัน
สีเลื่อมพราย ( Scintillation or Vibration )
            สีเลื่อมพรายเป็นการใช้สีให้เกิดปฎิกิริยา สั่นสะเทือน เคลื่อนไหวต่อสายตา โดยอาศัยสีตรงข้าม และสีส่วนประกอบ เป็นตัวนำให้เกิดปฎิกริยาทางสายตาในงานจิตรกรรมการเขียนโดยเกลี่ยสีจนเรียบอาจทำให้ภาพน่าเบื่อเรียบง่ายเกินไป การใช้สีเลื่อมพรายคือการ จุด แต้ม ระบาย เป็นส่วนเล็ก ๆ หลายสีสลับกันด้วยสีสด ๆ เช่นเมื่อต้องการให้มองเห็นเป็นสีเขียวอาจใช้วิธีแต้มสีน้ำเงินสลับกับสีเหลือง หรือต้องการให้รู้สึกเคลื่อนไหวอาจใช้สีเขียว ( Emeraid ) และสีม่วง ( Violet ) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสีน้ำเงิน มาจุดสลับปะปนกัน และใช้สีคู่ของสีน้ำเงิน คือสีส้มจุดลงไปด้วย จะเกิด Vibration ของสีน้ำเงินขึ้นทันที
            การนำสีส่วนประกอบ ( Compoment ) หรือสีคู่ ( Complementaey ) ของสีที่ต้องการมา
ระบายเป็นจุด ๆ สลับกัน สีควรใช้สีแท้สด ๆ จะทำให้เกิดปฎิกริยา เป็นประกายเด่นชัดขึ้น ถ้าใช้สีที่ทึบหรือเข้มหม่นก็จะทำให้เป็นสีกลางได้ การใช้สีให้เกิด Vibration นั้นจำเป็นต้องรู้ถึงสีส่วนประกอบของสี พร้อมทั้งสีคู่ของแต่ละสีด้วย ซึ่งมีดังนี้
สี
( Colour )
ส่วนประกอบ
( Components )
สีคู่
( Complementaries )
yellowVermilion + EmeraldViolet
Yellow - greenYellow - bluepurple
greenYellow - blueCrimson
Blue - greenYellow - blueScarlet
Cobalt - blueEmerald + VioletVermilion
UltramarineBlue + CrimsonOrange
VioletBlue + CrimsonYellow
PurpleBlue + CrimsonYellow - green
CrimsonViolet + VermilionGreen
ScarletCrimson + YellowBlue - green
VermilionCrimson + YellowCoblat – Blue
CraneCrimson + YellowUltramarine
 อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่องสีเพียงการอ่านเท่านั้น ไม่สามารถทำความเข้าใจการใช้สีในงานจิตรกรรมได้ ท่านจะต้องทดลองใช้และฝึกฝนวิธีใช้เพื่อเพิ่มความเข้าใจ และเกิดความชำนาญทำให้การใช้สีในงานจิตรกรรมส่งเสริมงานของท่านให้สมบูรณ์ขึ้น
เมื่อเริ่มเรียนจิตรกรรม หลายท่านที่เริ่มเรียนจิตรกรรม ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นคนรักงานศิลปะ แต่ยังขาดทักษะ ในการทำงานเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่า การทำงานจิตรกรรมไม่ใช่การเขียนภาพเหมือน ภาพถ่าย หรือการบันทึกภาพ จากกล้องถ่ายภาพ งานจิตรกรรมไม่ใช่การทันทึกภาพโดยตรง แต่เป็นการบันทึกอารมณ์ความรู้สึก ความคิดจากธรรมชาติ แต่ไม่ใช่การเรียนแบบธรรมชาติ ภาพที่งดงามต่างๆ ที่ท่านเห็นเป็นภาพที่ศิลปินใช้ความคิด และทักษะความชำนาญสร้างผลงานเหล่านี้ขึ้นมาจากธรรมชาติ
เมื่อเริ่มเขียนภาพการร่างภาพเป็นเรื่องสำคัญ อันดับแรกเพื่อไม่ให้เกิด ความสิ้นเปลืองสี และวัสดุอื่นๆ ที่จะตามมาทีหลัง การร่างภาพสีน้ำมันบน "เฟรม" โดยทั่วไปเราจะใช้ดินสอ ในการร่างภาพเราสามารถร่างภาพได้ทั้งดินสอดำ ดินสอสี หรืออาจจะใช้สีน้ำมันในการร่างภาพก็ได้
            การร่างภาพควรคำนึงถึง สัดส่วนของส่วนต่างๆ ที่ท่านกำลังเขียนอยู่ โดยใช้หลักองค์ประกอบศิลป์ หรือหลักการจัดภาพ โดยคำนึงถึงจุดสนใจของภาพ ส่วนรวมของภาพ กำหนดให้อยู่ในตำเหน่งที่เหมาะสม เช่น ในการเขียน ภาพแจกันที่มีดอกไม้ในแจกัน แต่ท่านกลับจัดภาพ โดยตัดจุดสนใจและแจกัน ให้ขาดหายไป
ท่านควรจัดภาพ ให้จุดสนใจอยู่ในตำเหน่งที่เป็นประธานของภาพได้ เช่น ( ตามตัวอย่าง )
 ตำแหน่งของจุดสนใจของภาพ
ในการจัดภาพหุ่นนิ่ง ขนาดของภาพควรจัดอยู่ในตำแหน่ง และ ขนาดที่เหมาะสม

      และเมื่อท่านเริ่มลงสีท่านก็ไม่ควรระวังเรื่องความเหมือนจนทำให้ท่านไม่กล้าที่จะเล่นกับการใช้สีการแต้มภู่กัน สร้างร่องลอยต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ผลงานมีรสชาติ และสวยงาม แตกต่างไปจากภาพเหมือนตามธรรมชาติ และสุดท้ายเมื่อท่านสามารถควบคุมการใช้สีการใช้ภู่กันของท่าน ให้เป็นไปตามที่ท่านต้องการแล้ว ท่านก็จะเป็นผู้สร้างฝันจากธรรมชาติ ด้วยตัวท่านเอง เรื่องสำคัญคือท่านจะต้องฝึกฝนให้มากพอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น